ประวัติต้นกระบองเพชร

กระบองเพชรในเมืองไทย
               แต่ก่อนนี้ เราชาวไทยรู้จักกระบองเพชรอยู่เพียง 3 - 4 ชนิดเท่านั้น ที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโต อยู่ตามธรรมชาติ เช่น สลัดได เสมา โปตั๋น หรือ กระบองเพชร ก่อนปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีผู้ใหญ่ในสมัยนั้นที่เป็นผู้รักต้นไม้ ได้เริ่มมีกระบองเพชรชนิดใหม่ๆ ติดกลับมาจากต่างประเทศเพื่อการสะสม เริ่มมีผู้สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น คุณสมพงษ์ เล็กอารีย์ , คุณอารีย์ นาควัชระ , คุณบุษบง มุ่งการดี
               ในขณะที่ตลาดไม้ประดับ กำลังให้ความสำคัญกับกล้วยไม้ นั้น กลุ่มเล็กๆ ของ "ชาวกระบองเพชร" ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น มีร้านกระบองเพชรร้านแรก เกิดขึ้นที่ตลาดนัดสนามหลวง คือร้าน "471" ของป้าวาส สังข์สุวรรณ ต่อจากนั้น ก็มีร้าน "ลุงจรณ์" ตั้งขึ้นริมคลองหลอด เชิงสะพานเสี้ยว เปิดขาย กระบองเพชรโดยตรง ลูกค้าได้ซื้อต้นไม้เล็ก ๆ ราคาต้นละ 2 บาท โหลละ 20 บาท ไปเลี้ยงกัน ดินปลูกนั้นขายเป็นกระป๋อง กระป๋องละ 1 บาท ตักใส่ถุงกระดาษปูนซีเมนต์สีน้ำตาล
              สมัยนั้น การหาพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ราคาต้นไม้ที่ค่อนข้างจะพิเศษ จะราคาสูงมากเลยทีเดียว กระบองทองกอใหญ่ ๆ กอหนึ่ง ราคาถึง 200 บาท (ทองบาทละ 400 บาท) มีการสั่งต้นไม้ และหนังสือเข้ามากันเสมอ หนังสือที่ผู้เขียนเห็นว่าสวยงามเหลือเกินเป็นเล่มแรกคือ " The Flowering cactus" ของ Raymond Carlson ตีพิมพ์ คศ. 1954 เข้ามาเมืองไทยปี 2501 การสั่งต้นไม้มัก จะสั่งเข้ามาทางไปรษณีย์ จาก Nursery ที่มีชื่อเสียงของสหรั๙อเมริกาในสมัยนั้น เช่นนั้น Johnson Cactus Garden และ Henrielta's Nursery เป็นต้น
              นักเล่นกระบองเพชร ที่ถึงขั้นหลงใหล และเริ่มจะ "เอาจริง" ก็มีหลายท่าน เช่น คุณอาขจี วสุธาร ขอยกย่องว่าท่านเป็นนักเล่นกระบองเพชรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนแรกของเมืองไทยทีเดียว ที่เล่นใน ลักษณะครบวงจร คือจากการสั่งเมล็ดเข้ามาเพาะ จนถึงได้เมล็ดจากรังท่านเองมาเพาะอีก รวมทั้งได้ศึกษาหาความรู้จากสรรพตำราอย่างจริงจัง
              ตั้งแต่ยุคนั้นถึงบัดนี้ กระบองเพชรสมัยนั้น ที่พบได้ว่า ยังมีอยู่ ได้แก่ ถังทอง ( Echinocactus grusonii ) และ เฟอโรแคคตัส ชวาซิไอ ( Ferrocactus schwarzii ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 60 นิ้ว ของอาจาร์สมคิด ถาวรามร อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาลัยธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) ต้นไม้ชุดนี้ (ประมาณ 5 ต้น) ปัจจุบัน อยู่ที่ศาลาแก้วกู่ จังหวัดหนองคาย
              ความที่เป็นต้นไม้อายุยืน กระบองเพชรก็กลายเป็ฯมรดกทางใจแก่หลาย ๆ คน ที่เคยเห็นท่านผู้ใหญ่ฟูมฟักทนุถนอมดูแลกระบองเพชร เมื่อถึงเวลา ก็มีทายาทรับช่วงการเลี้ยงดู และประสบการณ์ต่อ เป็นที่น่ายินดี เช่น คุณทัศน์ วสุธาร เจ้าของ "สวนขจี" แห่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ต่อมาเมือประมาณปี 2519 - 2520 เริ่มมีการสั่งต้นไม้เข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น มีไม้ต่อสีแดงเข้ามาเล่นกัน ตามมาด้วย ยิมโนด่าง ( Gymnocalycium mihanovichii variegata) และต้นไม้เพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ จำนวนมาก
              มีร้านขายกระบองเพชรเพิ่มขึ้นหลายร้านที่สนามหลางแล้วในขณะนั้น แต่ละร้านก็ล้วนแต่น่าสนใจ ร้านใหญ่ๆ มีร้านยุทธนาแคคตัส ร้านลินจง ร้านพิศพร้อม ร้านลุงจรณ์ และ ลุงเล็ก ต้นไม้ญี่ปุ่นทำให้วงการกระบองเพชรตื่นตัวกับการต่อต้นไม้ โดยใช้ Hylocereus gelatemalensis (โบตั๋นสามเหลี่ยม) เป็นต้นตอ เริ่มมีผู้ผลิตไม้ต่อออกมาจำนวนมาก ทำให้การผลิตในประเทศไทยขยายตัวรวดเร็วขึ้น คนที่มีชื่อเสียงในการทำไม้ต่อในขณะนั้นมีหลายคนทีเดียว เช่น อ.วิม   อ.นวลศรี ทยาพัชร  อ.ประวัติ  อุทโยภาส อีกคนหนึ่งที่เก่งมากคือ คุณประวิต   สมมาตรทำไม้ต่อในพื้นที 6 ไร่ ปลูกคงบนคันดิน ยกร่องแบบแปลงผัก ให้เรือรดน้ำ และต่อด้วยการใช้เทป
                เมื่อย้ายตลาดนัดจากสนามหลางมาอยู่ที่สวนจตุจักร หลายปีแรกของช่วงนั้น วงการกระบองเพชรซบเซาไประยะหนึ่ง จนตลาดเริ่มฟื้นตัวขึ้น วงการก็ก้าวหน้าขึ้นมาอีกครั้ง หลายครั้งที่หนังสือพิมพ์ทำข่าวเรื่องกระบองเพชร รวมทั้งรายหารทางโทรทัศน์ หลายวงการหนังสือและนิตยสารหลายเล่มทำเรื่องราวสัมภาษณ์ผู้เพาะเลี้ยง การสร้าง Geodesic Dome ที่สวนหลวง ร.9 เพื่อจัดสวนกระบองเพชร หลาย ๆอย่าง รวมทั้งความพยายามของผู้เลี้ยงและผู้จำหน่ายที่ทำการยกระดับการผลิตและคุณภาพของต้นไม้ขึ้นมาโดยตลอด ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้ กระบองเพชรก้าวขึ้นสู่ความสนใจของคนไทยจำนวนไมน้อย การขายและการเผยแพร่ก็เป็นไปโดยกว้างขวาง กว่า 50 จังหวัดของประเทศ   เริ่มมีตำรากระบองเพชรภาษาไทย เป็นรูปเล่มขึ้น เช่น "แคคตัส" ของ สำนักพิมพ์บ้านและสวน
                เดี๋ยวนี้ ถ้าถามถึงกระบองเพชร คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว จากพันธุ์ไม้พื้นเมืองเพียง 3 - 4  ชนิด ในยุคก่อน เดี๋ยวนี้เราเข้าใจกันแล้วว่า กระบองเพชรเป็นพันธุ์ไม้ที่มีรูปทรงหลายกลาย ไม่มีที่สิ้นสุด มีความงดงามอย่างมีพลังในตนเอง มีดอกที่แสนสวย เป็นต้นไม้ที่คู่ควรกับการศึกษาที่น่าสนใจ คู่ควรกับการทนุถนอมไว้เป็นพันธุ์ไม้ประดับคู่เมืองไทยตลอดไป
                พันธุ์ไม้ชนิดใดก็ตาม เกิดขึ้นมาในโลกของเพื่อประโยชน์ใช้สอยและประดับโลก ล้วนเป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติ เป็นเรื่องน่ายินดีที่พันธุ์ไม้จากทะเลทรายอันไกลโพ้นคนละซีกโลก ได้มีโอกาสมาเกิด มาเจริญเติบโต ผลิดอก ออกผล เป็นที่ชื่นชูในกับคนไทยอย่างนี้ นักเล่นกระบองเพชรมความสุขทางใน อันประมาณมิได้ ในการได้ฟูมฟักทนุถนอมต้นไม้ของเรา ค่อย ๆ ดูการเจริญเติบโต วันเวลาที่ผ่านไป ทำให้ต้นไม้น้อยๆ ของเราแข็งแรงสดใส ผลิหนามใหม่สีสดสวย รูปทรงสลักเสลาประหนึ่งประติมากรรมธรรมชาติ นอกจากจะได้ชื่นชมความงามแล้ว ยังมีนักเล่นอีกจำนวนมาก มีหมายมาดจะขึดงานนี้ เป็นอาชีพที่ถาวรต่อไป หวังว่ากระบองเพชร จะเป็นเพชรเม็ดงามประดับวงการไม้ประดับเมืองไทย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก
http://www.l3nr.org/posts/132803

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น