ความหมาย ความสำคัญและประโยชน์ของไม้ดอกไม้ประดับ

ความหมาย ความสำคัญและประโยชน์ของไม้ดอกไม้ประดับ

        ปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากขึ้น ทั้งนี้เพราะมนุษย์มิใช่มีความต้องการเฉพาะปัจจัยสี่เท่านั้น แต่ยังต้องการจัดสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยให้เกิดความร่มรื่น สวยงามน่าอยู่อีกด้วย เช่น มีการจัดสวน ตกแต่งอาคาร สถานที่ บ้านพักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงเรียน และสถานที่ต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงาม ตลอดจนการใช้ไม้ดอก ไม้ประดับ ในการจัดตกแต่งประดับจานอาหาร โต๊ะอาหารในภัตตาคารต่าง ๆ จึงเห็นได้ว่า การผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการค้านับวันจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น และมีมูลค่าของผลิตภัณฑ์สูงเท่าเทียมกับผลิตผลทางการเกษตรสาขาอื่น ๆ ดังนั้น การปลูกไม้ดอกไม้ประดับจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพที่น่าสนใจ


ความสำคัญของไม้ดอกไม้ประดับ


ไม้ดอกไม้ประดับมีความสำคัญ ดังนี้

       1. สามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สามารถทำเป็นอาชีพของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตปีละจำนวนมาก ๆ

       2. ทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความร่มรื่นสวยงาม การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ช่วยสร้างความร่มรื่นสวยงามให้แก่สถานที่ต่าง ๆ ให้น่าอยู่น่าอาศัย สร้างความเพลอดเพลิน

       3. เป็นแหล่งวัตถุดิบทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตน้ำหอม เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมด้านยารักษาโรค ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

       4. ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อมีการรวมตัวกันผลิตไม้ดอกไม้ประดับจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและส่วนรวมอีกทางหนึ่งด้วย

       5. ไม้ประดับสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี เช่น การส่งออกกล้วยไม้ทั้งต้นและดอกไปขายยังต่างประเทศ เป็นต้น

       6. ใช้เป็นแหล่งทดลองทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ทำให้เกิดความเจริญด้านเทคโนโลยีการเกษตรมากยิ่งขึ้น

ความหมายของไม้ดอกไม้ประดับ

       ไม้ดอก หมายถึง พืชที่ปลูกขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากดอก พืชชนิดนี้มีลักษณะดอกสวยงาม มีทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก บางชนิดมีดอกสวยงามติดต้นนิยมปลูกประดับตกแต่งอาคารสถานที่ เรียกว่า ไม้ดอก เช่น ลั่นทม ยี่โถ ยี่เข่ง เข็ม ชวนชม ดาวกระจาย บานชื่น พุทธรักษา โป๊ยเซียน เป็นต้น บางชนิดปลูกเพื่อตัดดอกนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง เรียกว่า ไม้ตัดดอก เช่น กุหลาบ ดาวเรือง หน้าวัว เบญจมาศ ซ่อนกลิ่น ขิงแดง กล้วยไม้ เป็นต้น

       ไม้ประดับ หมายถึง พืชที่ปลูกขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากรูปร่าง รูปทรง สีสันของลำต้นและใบ พืชชนิดนี้จะมีรูปทรง รูปร่าง สีสีนของลำต้นและใบสวยงามแตกต่างกันไป นิยมปลูกประดับตกแต่งอาคารสถานที่ทั้งในพื้นดินและในกระถาง มีทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก เช่น ปาล์มต่าง ๆ ข่อย สนชนิดต่าง ๆ ไทรยอดด่าง ฤาษีผสม เฟิร์นชนิดต่าง ๆ สาวน้อยประแป้ง ว่านกาบหอย เป็นต้น

ประเภทของไม้ดอกไม้ประดับ

1.      แบ่งตามความต้องการแสงในการเจริญเติบโตสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
       1.1 พืชในร่ม (indoor plants) เป็นพืชที่ต้องการความเข้มของแสงต่ำ ควรปลูกในที่ร่ม มีแสงรำไร จะทำให้พืชมีการสังเคราะห์แสงดี อย่าให้ถูกแดดจัด เพราะจะทำให้ใบไหม้และตายได้ เช่น เฟิร์นต่าง ๆ สาวน้อยประแป้ง บอนสี เป็นต้น

       1.2 พืชกลางแจ้ง (Outdoor plants) เป็นพืชที่ต้องการความเข้มของแสงสูง จึงจะทำให้ขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชทำได้ดี พืชประเภทนี้จึงต้องปลูกกลางแจ้ง ถูกแดดจัดตลอดทั้งวัน เช่น กุหลาบ เข็ม ยี่โถ ดาวเรือง ดาวกระจาย ชวนชม เฟื่องฟ้า เป็นต้น

2. แบ่งตามลักษณะรูปทรงของลำต้น ใบ ได้แก่พรรณไม้ที่มุ่งเน้นความสวยงามที่รูปทรงของลำต้น พุ่ม ใบ แบ่งได้ดังนี้
       2.1. ไม้ยืนต้น (Tree) ส่วนมากเป็นพรรณไม้ที่ต้องขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีอายุยืนนานหลายปี มีดังนี้
       
       (1) ไม้ยืนต้นใบเลี้ยงคู่ ได้แก่ ไม้ให้ร่มเงา เช่น ประดู่แดง ประดู่บ้าน จามจุรี ทองกวาว คูณ นนทรีย์ ตะแบก เสลา พิกุล ลั่นทม ไทร ชงโค ฯลฯ และไม้ยืนต้นที่มีลักษณะพิเศษของลำต้น ใบ หรือทรงพุ่มสวยงาม เช่น เฟื่องฟ้าตอ โมกตอ ไม้ดัดไม้แคระ ซองออฟอินเดีย ฯลฯ

       (2) ไม้ยืนต้นใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น จันทน์ผา ปาล์มชนิดต่าง ๆ (จั๋ง อินทผลัม ปาล์มน้ำมัน ตาล หมากเขียว หมกเหลือง หมากนวล ฯลฯ)


      2.2 ไม้พุ่ม (Shrub) เป็นพรรณไม้ที่ส่วนมากจะขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน หรือ ตัดชำ ปลูกแล้ สามารถบังคับพุ่มได้ มี 2 กลุ่ม ดังนี้

       (1) ชนิดตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้ เช่น หูปลาช่อน ชบาด่าง นีออน ลิ้นกระบือ เข็มเชียงใหม่ เข็มพิษณุโลก บานบุรีพุ่ม ฯลฯ

       (2) ชนิดซอยบังคับทรงพุ่ม จะใช้กับพรรณไม้ที่ต้องการให้ออกดอก และต้องการควบคุมความสูงของทรงพุ่ม เช่น เฟื่องฟ้า เข็มปัตตาเวีย เข็มมาเลเซีย เล็บครุฑ โกสน ฯลฯ
         
            2.3 ไม้กอ เป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกหัว หน่อหรือเหง้า ได้แก่ ขิงแดง ข่าด่าง รางทอง เขียวหมื่นปี กล้วยกำมะหยี่ เสน่ห์ขุนแผน กาเหว่าลาย หนวดปลาดุก ม้าเวียน เศรษฐีไซ่ง่อน กำแพงเงิน กาบหอย สัปปะรดสี ฯลฯ


       2.4 ไม้คลุมดิน เป็นพืชที่มีลำต้นสั้นหรือลำต้นมีลักษณะเลื้อยยาวแผ่คลุมดินได้ดี เช่น มันเทศด่าง ผกากรองเลื้อย


3. แบ่งตามความสวยงามหรือการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของพรรณไม้ แบ่งได้ดังนี้
       3.1 พืชพรรณที่มีโคนต้นหรือรากสวยงาม เช่น ไทร โพธิ์ ชวนขม หมากเล็กหมากน้อย สนเลื้อย ฯลฯ
       3.2 พืชพรรณที่มีลำต้นแปลกสวยงาม เช่น ไม้ดัดไม้แคระ ปาล์มชนิดต่าง ๆ ฯลฯ











ขอบคุณที่มาจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=79580(เนื้อหา)
http://www.healthcorners.com/new_read_travel.php?category=sourcetour&id=348(ภาพ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น